วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ไม้สัก

ความรู้เกี่ยวกับไม้สัก
ไม้สัก
          
ถิ่นกำเนิดของไม้สัก
            ไม้สัก มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Teak และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tectona grandis อยู่ในวงค์ Verbenaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก
           
ไม้สัก เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และบางส่วนของภาคกลางและตะวันตก คือ ในท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สำพูน เชียงราย สำปาง แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และพิจิตรและมีบ้างเล็กน้อยในจังหวัด นครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี
           
ไม้สัก ชอบขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา แต่ในพื้นที่ราบที่น้ำไม่ขังไม้สักก็ขึ้นได้ดีเช่นเดียวกัน ในพื้นที่ที่เป็นดินปนทรายแต่น้ำไม่ขัง ไม้สักมักขึ้นเป็นหมู่ไม้สักล้วน ๆ และมีไม้ขนาดใหญ่ ไม้สักชอบพื้นที่ที่มีชั้นดินลึก การระบายน้ำดี ไม่ชอบดินแข็งและน้ำท่วมขัง
           
ไม้สัก ขึ้นได้ดีในดินที่เกิดจากหินหลายชนิด แต่ความเจริญงอกงามของไม้สักขึ้นอยู่กับความลึก การระบายน้ำ ความชื้น และความอุดมสมบูรณ์ ของดินนั้น ๆ โดยเฉพาะในดินที่เกิดจากหินปูนซึ่งแตกแยกผุผังจนกลายเป็นดินร่วนที่ลึก ไม้สักชอบมากและเจริญเติบโตดีมาก ไม้สักชอบดินที่มีความเป็นกลางและด่างเล็กน้อย ค่า pH ระหว่าง 6.5-7.5 ปริมาณน้ำฝน ระหว่าง 1,200-2,000 มม. ต่อปี ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 700 เมตร และมีฤดูแล้งแยกจากฤดูฝนชัดเจนจะทำให้ไม้สักมีลวดลายสวยงาม

ท่านทราบหรือไม่
พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นสิ่งปลูกสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ลักษณะบางประการ
            ไม้สัก เป็นต้นไม้ผลัดใบ ขนาดใหญ่มีลำต้นเปลา มักมีพูพอน ตอนโคนต้นเรือนยอดกลม สูงเกินกว่า 20 เมตร
           
เปลือก หนา 0.30-1.70 ซม.
สีเทา หรือสีน้ำตาลอ่อนแกมเทา แตกเป็นร่องตื้น ๆ ไปตามทางยาวและหลุดออกเป็นแผ่นบาง ๆ เล็ก ๆ
           
ใบ ใหญ่ ความกว้าง 25-30 ซม. ความยาว 30-40 ซม. รูปใบรีมน หรือรูปไข่กลับ แตกจากกิ่งเป็นคู่ ๆ ท้องใบสากหลังใบสีเขียว แกมเทา เป็นขน
           
ดอก เล็กสีขาวนวล ออกเป็นช่อใหญ่ ๆ ตามปลายกิ่งเริ่มออกดอกเดือน มิถุนายน เป็นต้น
           
ผล ค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 ซม. ผลหนึ่ง ๆ มีเมล็ดใน 1-4 เมล็ด เปลือกแข็งมีขนสั้น ๆ นุ่ม ๆสีน้ำตาล หุ้มอยู่ ผลแก่ในราวเดือน พฤศจิกายน-มกราคม
           
ลักษณะเนื้อไม้ สีเหลืองทอง ถึงสีน้ำตาลแก่ มีลายเป็นเส้นสีน้ำตาลแก่แทรก เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ แข็งปานกลาง เลื่อยใสกบ ตบแต่งง่าย
คุณสมบัติบางประการ
            ไม้สัก ปลวกและมอดไม่ทำอันตราย เพราะในเนื้อไม้สักมีสารเคมีพิเศษอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อ O-cresyl methyl ether สารเคมีชนิดนี้ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ของกรมป่าไม้ มีคุณสมบัติ เมื่อทาหรืออาบไม้แล้วไม้จะมีความคงทนต่อ ปลวก แมลง เห็ดราได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ในไม้สักทอง ยังพบว่ามีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm. (ไม้สักทอง 26 ต้น มีทองคำหนัก 1 บาท)
            ไม้สัก เป็นไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้ จากการทดลองตามหลักวิชาการไม้สักมีความแข็งแรงสูงกว่า 1,000 กก./ตร.ซม.
และมีความทนทานตามธรรมชาติ จากการทดลองนำส่วนที่เป็นแก่นของไม้สักไปทดลองปักดิน ปรากฏว่า มีความทนทานตามธรรมชาติเกินกว่า 10 ปี (ระหว่าง 11-18 ปี)
การคัดเลือกแม่ไม้สักทอง
            การคัดเลือกแม่ไม้ (Plus tree) เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการปรับปรุงพันธุ์ไม้สักทอง ผลจากการคัดเลือกแม่ไม้ จะทำให้ได้สายพันธุ์ของไม้ ที่มีคุณลักษณะดี สำหรับนำไปใช้ในการขยายพันธุ์ ทั้งจากการเพาะด้วยเมล็ดโดยการสร้างสวนเมล็ดพันธุ์ หรือการผลิตกล้าไม้คุณภาพดีแบบ ไม่อาศัยเพศ เช่น การตัดกิ่งปักชำ และ การะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การมีแม่ไม้ทีดีนั้นอาจเป็นหลักประกันได้ว่า จะให้เมล็ดหรือกล้าไม้ที่ดีสำหรับการ ปลูกสร้างสวนป่าเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มผลผลิตเนื้อไม้ต่อหน่วยเนื้อที่ได้
           
การคัดเลือกแม่ไม้สักทองมีหลักในการพิจารณาอยู่หลายประการ ทั้งการพิจารณาจากลักษณะภายนอก (Phenotypes) และลักษณะภายใน (Genotypes) ลักษณะภายนอกสามารถพิจารณาได้ทันที ตามหลักวิชาการใช้วิธีประเมินค่าลักษณะต่าง ๆ ของต้นไม้ โดยการให้คะแนน ส่วนลักษณะภายในพิจารณาได้ยากเพราะจะต้องมีการโค่นต้นไม้หรือเลื่อยแปรรูปเสียก่อนจึงจะพิจารณาได้ ซึ่งหมายความว่าจะต้องเสียแม่ไม้ที่ให้เมล็ด ไป แต่ถ้าเป็นการตัดกิ่งปักชำ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อโค่นแม่ไม้แล้วสามารถใช้หน่อจากต้นตอได้
           
การคัดเลือกแม่ไม้สักทองในประเทศไทย มีลักษณะในการพิจารณากว้าง ๆ ดังนี้
            1.
อายุของต้นไม้
           
ไม้สักทองที่สามารถนำมาทำเป็นแม่ไม้ได้นั้น ควรมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี ทั้งนี้ เพราะไม้สักทองที่ปลูก จะนำไปใช้ประโยชน์เมื่อมีอายุ ประมาณ 15 ปี ไม่ควรเลือกไม้สักทองที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี เป็นแม่ไม้ ถึงแม้ว่าจะมีขนาดโตตามที่กำหนดไว้ก็ตาม เพราะกล้าไม้ที่ได้จากแม่ไม้ที่มีอายุ น้อยจะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร
            2.
ลักษณะของลำต้น
           
ลักษณะภายนอกที่สำคัญประการแรก ในการคัดเลือกไม้สักทอง เพื่อใช้ทำแม่ไม้ ควรคัดเลือกลักษณะของลำต้น ต้องเปลาตรง ไม่บิด คดงอ และกิ่งก้านไม่มาก กล่าวคือ มี clear bole ยาวกว่าต้นอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการปลูกไม้สักทอง เพื่อใช้ประโยชน์จากลำต้น ไม้สักทองที่มีลำต้นเปลาตรง จะขายได้ราคาแพงกว่าไม้สักทองที่ลำต้นคดงอ
            3.
ขนาดของลำต้น
           
ลักษณะภายนอกที่ควรพิจารณาอันดับต่อไป ก็คือ ขนาดของลำต้น ควรคัดเลือกต้นที่มีขนาดใหญ่กว่าต้นอื่น ๆ ในชั้นอายุเดียวกันซึ่ง ควรมีความโตทางเส้นรอบวงเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 7.0 ซ.ม. การคัดเลือกแม่ไม้สักทองโดยพิจารณาความโตเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ต้นไม้ขนาดใหญ่ ย่อมให้ปริมาตรเนื้อไม้ต่อเนื้อที่สูงกว่า และไม้สักทองที่มีความเจริญเติบโตดี จะสามารถถ่ายทอดลักษณะความเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรงไปยังรุ่น ต่อ ๆ ไปด้วย
            4.
เรือนยอด
           
รูปทรงเรือนยอดต้องเป็นพุ่ม ได้สัดส่วนกับความสูง รัศมีความกว้างของทรงพุ่มรอบเรือนยอดเท่ากัน น้ำหนักเรือนยอดไม่ถ่วงไป ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ต้นไม้โค่นล้มได้ง่ายเมื่อเกิดลมพัดแรง
            5.
ลักษณะและคุณภาพของเนื้อไม้
           
วัตถุประสงค์ในการปลูกไม้สักทองนั้น นอกจากต้องการต้นไม้ที่รูปทรงดีและโตเร็วแล้ว ยังมีความต้องการเนื้อไม้สักทองที่มีลวดลาย สวยงามด้วย ดังนั้น ต้นสักที่มีลวดลายสวยงามจึงเป็นที่ต้องการและควรคัดเลือกไว้เป็นแม่ไม้
            6.
ความต้านทานโรคและแมลง
           
ปัจจุบัน ปรากฏว่า สวนสักทองของทางราชการและเอกชนที่ปลูกไว้แล้วมีโรคและแมลงรบกวนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหาย ที่บริเวณ ลำต้น ใบ กิ่งก้าน เปลือกหรือส่วนอื่น ๆ ดังนั้น การคัดเลือกแม่ไม้ไว้ทำพันธุ์ ต้องไม่ปรากฏว่ามีร่องรอยของโรคและแมลงรบกวนตามส่วน ต่าง ๆ ของลำต้นดังกล่าวแล้ว
            7.
ความสามารถในการแตกหน่อ
           
ความสามารถในการแตกหน่อของไม้สักทอง จะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการโค่นต้นไม้เสียก่อน แต่ก็เป็นผลดีในการปรับปรุงพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยวิธีแตกหน่อในรุ่นต่อไป และการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แม่ไม้สักทองควรจะต้องมีการแตกหน่อที่ดีและให้หน่อที่ สมบูรณ์ด้วย
            8.
ความสามารถในการแตกรากของกิ่งปักชำ
           
ลักษณะในข้อนี้ มีความจำเป็นสำหรับการเตรียมกล้าไม้สักทองแบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นการใหม่ที่กำลังได้รับการพัฒนาเพื่อการ ปลูกสร้างสวนสักทอง ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต การทดสอบความสามารถของแม่ไม้ในข้อนี้ จำเป็นต้องมีการทดลองเก็บข้อมูลไว้สำหรับการ ปรับปรุงพันธุ์
            9.
ความสามารถในการถ่ายทอดและดำรงพันธุ์
           
แม่พันธุ์ที่ดีต้องให้ลูกไม้ที่มีลักษณะเด่นเหมือนแม่พันธุ์นั้นกล้าไม้รุ่นต่อ ๆ ไปต้องไม่กลายพันธุ์ง่าย สามารถถ่ายทอดลักษณะที่ดี ได้ตลอดไป ลักษณะเช่นนี้จะทราบได้ต้องใช้เวลาในการศึกษาทดลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตัดสินใจได้
           สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก   สะพานอูเบ็ง เป็นสะพานที่ยาวถึง 2 กิโลเมตร ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน ทางตอนใต้ของเมืองอมรปุระ มุ่งตรงไปสู่เจดีย์เจ๊าต่อจี อยู่อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ พระเจ้าปุดงโปรดฯให้ขุนนางนามว่าอูเบ็งเป็นแม่กองงานสร้างสะพานแห่งนี้ โดยใช้ไม้สักที่รื้อจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะจำนวน 1,208 ต้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น